นอนไม่หลับ..ปัญหาที่ไม่ควรมองข้าม

นอนไม่หลับ..ปัญหาที่ไม่ควรมองข้าม หนึ่งในปัญหาที่บั่นทอนสุขภาพและคุณภาพชีวิตของคนไทย

ในปีที่ผ่านมา การนอนไม่หลับเป็นหนึ่งในปัญหาที่บั่นทอนสุขภาพและคุณภาพชีวิตของคนไทยประมาณ 19 ล้านคน และกว่า 2,000 ล้านคนทั่วโลก การนอนที่มีคุณภาพควรมีระยะเวลาการนอนที่เพียงพอ รู้สึกสดชื่นในวันรุ่งขึ้น ซึ่งระยะเวลาการนอนที่เหมาะสมจะแตกต่างกันตามช่วงอายุ โดยวัยผู้ใหญ่ควรนอนให้ได้ 7-9 ชั่วโมงทุกคืน ไม่ตื่นระหว่างการนอนหลับรวมกันมากกว่า 20 นาที อีกทั้งมีประสิทธิภาพการนอนโดยรวมที่ดี เพื่อเข้าสู่กระบวนการหลับลึกได้ดีขึ้น โดยช่วงการนอนหลับ ความถี่ของคลื่นสมองจะลดลงอยู่ในช่วงคลื่นเดลตา เป็นคลื่นสมองที่ช้าที่สุด ความถี่ประมาณ 0.5-4 รอบต่อวินาที เป็นช่วงที่ร่างกายจะหลั่งโกรทฮอร์โมน หรือฮอร์โมนชะลอความแก่ ที่ช่วยฟื้นฟูและเสริมสร้างการทำงานของร่างกาย

นอนไม่หลับ..ปัญหาที่ไม่ควรมองข้าม

นพ.พลวัฒน์ ปรีชาบริสุทธิ์กุล ผู้ช่วยผู้อำนวยการคลินิกสุขภาพเชิงป้องกันและฟื้นฟู บีดีเอ็มเอส เวลเนส คลินิก (BDMS Wellness Clinic) กล่าวว่า การนอนหลับเป็นรากฐานของการมีสุขภาพดี เพราะมีส่วนสำคัญต่อการกำจัดของเสียออกจากสมอง เนื่องจากสมองไม่มีระบบน้ำเหลือง (Lymphatic system) ดังนั้นสมองจึงกำจัดของเสียด้วยกระบวนการชำระล้างสมอง (Glymphatic system) กระบวนการดังกล่าวต้องทำในช่วงที่นอนหลับและจะทำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุดในช่วงของการนอนหลับลึก (deep non-REM sleep) เพราะในช่วงดังกล่าวเซลล์ในสมองจะหดตัวลงไป 60% ทำให้เกิดช่องว่างเพื่อการชำระล้างของเสียสำคัญที่ถูกกำจัดจากสมองคือ ss-amyloid เป็นโปรตีนชนิดหนึ่ง ซึ่งเป็นองค์ประกอบหลักของ amyloid plaque สาเหตุสำคัญของการเกิดโรคอัลไซเมอร์ นอกจากนั้น การนอนหลับลึกมีความสำคัญต่อกระบวนการเรียนรู้ (cognitive function) ได้แก่ ความจำ (memory) ภาษา (language) จนถึงการแสดงออกของพฤติกรรม (behavior) และอารมณ์ (mood) การนอนหลับลึกช่วยจัดเรียงความทรงจำในสมองให้ดีขึ้น เชื่อมโยงความทรง  จำเก่าและใหม่เข้าด้วยกัน หากอดนอน ความสามารถในการเรียนรู้จะลดลงมากถึง 40% รูปแบบของการนอนจะมีความเปลี่ยนแปลงไปตามอายุ เมื่ออายุมากกว่า 60 ปี จะสูญเสียการหลับลึกไปมากกว่า 70% เมื่อเทียบกับคนอายุ 18-25 ปี นี่คือสาเหตุว่า ทำไมผู้สูงอายุจึงมีปัญหาในเรื่องความจำ

ข่าวสุขภาพเพิ่มเติม >>> โรคหัวใจไม่เลือกวัย อายุน้อยก็เสี่ยงได้